วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์


ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Maize,Corn)

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ประมาณ 94 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวโพดใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศ และมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี บางปีต้องมีการนำเข้า ปัจจุบันประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกเป็นข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมซึ่งให้ผลผลิตสูง

ปัญหาของพืช ข้อจำกัด และโอกาส

- พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลง แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

- ประสิทธิภาพการผลิตต่ำเนื่องมาจากฝนทิ้งช่วง ดินเสื่อม และการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาทอกซินช่วงต้นฤดู

- มีการระบาดของโรคและแมลงในช่วงปลายฝน

- ผลผลิตกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม

- เมล็ดพันธุ์ดีของภาคเอกชนมีราคาแพง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

- ความสูงจากระดับน้ำทะเล ไม่เกิน 1,000 เมตร

- ความลาดเอียงไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์

- ดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินร่วนทราย หรือดินเหนียว

- ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ มีฟอสฟอรัสที่เป็น ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน

- โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ไม่น้อยกว่า 60 ส่วนในล้านส่วน

- การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี

- ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร

- ค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.5-7.0

- อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส

- ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี

พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นิยมปลูก

มีอายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ สระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ สุโขทัย และเลย มี 2 กลุ่ม

พันธุ์ลูกผสม

เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด มีลักษณะทางการเกษตรสม่ำเสมอ ได้แก่ ขนาดฝัก ความสูงฝัก ความสูงต้น อายุถึงวันออกไหม และเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตและคุณภาพสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด จึงเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้

*** พันธุ์ลูกผสมทุกพันธุ์ไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง ยกเว้น นครสวรรค์ 72 และสุวรรณ 3851
เมล็ดพันธุ์ราคากิโลกรัมละ 60-90 บาท พันธุ์ลูกผสมที่นิยมปลูกในปัจจุบัน มี 7 พันธุ์

พันธุ์ผสมเปิด

- ลักษณะทางการเกษตรไม่สม่ำเสมอเมื่อเทียบกับพันธุ์ลูกผสม

- ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง

- เมล็ดพันธุ์ราคาถูกกว่าพันธุ์ลูกผสมประมาณ 5 เท่า คือ ราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท
พันธุ์ที่นิยมปลูก มี 2 พันธุ์

ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่นิยมปลูก

1. พันธุ์ซีพีดีเค 888

เป็นพันธุ์ของ บริษัทกรุงเทพอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ จำกัด ความสูงต้น 210 เซนติเมตร ความสูงฝัก 120 เซนติเมตร อายุถึงวันออกไหม 58 วัน ผลผลิต 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์กะเทาะเมล็ด 81 เปอร์เซ็นต์

2.พันธุ์ไพโอเนียร์ 3013

เป็นพันธุ์ของ บริษัทไพโอเนียไฮเบรดไทยแลนด์เมล็ดพันธุ์ จำกัด มีความสูงต้น 200 เซนติเมตร ความสูงฝัก 110 เซนติเมตร อายุถึงวันออกไหม 54 วัน ผลผลิต 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์กะเทาะเมล็ด 81 เปอร์เซ็นต์

3. พันธุ์แปซิฟิค 983

เป็นพันธุ์ของ บริษัทแปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด มีความสูงต้น 190 เซนติเมตร ความสูงฝัก 100 เซนติเมตร อายุถึงวันออกไหม 55 วัน ผลผลิต 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์กะเทาะเมล็ด 80 เปอร์เซ็นต์

4. เทพีวีนัส 49

เป็นพันธุ์ของ บริษัทซินเจนทาซีดส์ จำกัด มีความสูงต้น 200 เซนติเมตร ความสูงฝัก 100 เซนติเมตร อายุออกไหม 53 วัน ผลผลิต 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ เปอร์เซ็นต์กะเทาะเมล็ด 80 เปอร์เซ็นต์

5. ลูกผสมพันธุ์นครสวรรค์ 72

วันที่รับรอง : 16 พฤศจิกายน 2542

ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว มีชื่อเดิมว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม NSX 9210
เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 9008 และ ข้าวโพดเลี้ยง
สัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 9202 จากนั้นนำไปเปรียบเทียบพันธุ์และประเมินผลผลิตตาม
ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร

ลักษณะดีเด่น

1. ให้ผลผลิต 913 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าข้าวโพดพันธุ์ผสมเปิดนครสวรรค์ 1 ร้อยละ 23 %

2. มีความต้านทานโรคราน้ำค้างเช่นเดียวกับข้าวโพดพันธุ์นครสวรรค์ 1

ข้อควรระวัง : เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยว จึงไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ใช้ทำ พันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกใหม่ทุกครั้ง

พื้นที่แนะนำ : ปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตข้าวโพดของประเทศไทย

6. พันธุ์สุวรรณ 3851

- ความสูงต้น เฉลี่ย 200 ซม.

- ความสูงฝัก เฉลี่ย 110 ซม.

- อายุ ออกไหม* 54 วัน

- อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน

- ผลผลิต 1,000 กก./ไร่

- เปอร์เซนต์กะเทาะเมล็ดเฉลี่ย 79

- การเป็นโรค ต้านทานโรคราน้ำค้างและ โรคราสนิม


7. พันธุ์สุวรรณ 5 (มก.)

วันที่รับรอง : 19 เมษายน 2537

ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดมีพันธุ์ผสมเปิดที่ดีเด่นหลายพันธุ์และมีลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์สุวรรณ 1 ได้ปรับปรุงโดยการคัดเลือกแบบ หมุนเวียนแต่ละพันธุ์มาหลายรอบจะพบว่ามีความสัมพันธ์กันสูง มีความแตกต่างทางพันธุ กรรมระหว่างพันธุ์น้อย ได้นำพันธุ์ผสมเปิดดีเด่นมาจำนวน 5 พันธุ์ ดังนี้

1. Suwan 1

2. Caripeno DMR

3. Thai Composite # 3 DMR

4. Cupurico Flint Composite

5. Amarillo Dentado

*** ระหว่างพันธุ์ดังกล่าวอย่างละเท่า ๆ กัน ทำการคัดเลือกพันธุ์ ตั้งแต่ ปี 2526 และทำการประเมินผลผลิตตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการ เกษตรตั้งแต่ปี 2527-2536 พบว่าให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์รับรองที่มีอยู่

ลักษณะดีเด่น

1. ให้ผลผลิตเมล็ดสูง เฉลี่ยอยู่ในช่วง 907-945 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 (7%) สุวรรณ 3 (4%) และพันธุ์นครสวรรค์ 1 (16%)

2. ให้ผลผลิตน้ำหนักต้นสดและน้ำหนักแห้งสูง เหมาะในการทำเป็นพืชอาหารสัตว์

3. สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมทั่วไป

4. มีลักษณะทางการเกษตรอื่น ๆ ที่ดี เช่น มีระบบรากและลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย
และต้านทานโรคราน้ำค้าง และโรคทางใบอื่น ๆ ด้วย

5. เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดไว้ใช้ทำพันธุ์ได้นาน 1-3 ชั่ว โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ
ของนักวิชาการ

ลักษณะทางการเกษตร

1. ผลผลิตเฉลี่ย 907-945 กิโลกรัมต่อไร่

2. อายุเก็บเกี่ยว 110-120 วัน

3. วันออกดอก 55 วัน

4. ความสูงของต้น 192 เซนติเมตร

5. ตำแหน่งความสูงของฝัก 109 เซนติเมตร

6. การเป็นโรคราน้ำค้าง 0.41 เปอร์เซ็นต์

7. ความแข็งแรงของระบบราก 2.0 (1= ดีที่สุด, 5= ดีน้อยที่สุด)

8. จำนวนต้นหักล้ม 0.6 เปอร์เซ็นต์

9. การหุ้มของเปลือกฝัก 1.2 เปอร์เซ็นต์

10. ความต้านทานโรคทางใบ 2.3 เปอร์เซ็นต์

11. สีของซังขาว

12. สีและชนิดของเมล็ด ส้ม เหลือง หัวแข็งถึงกึ่งหัวแข็ง

8. พันธุ์นครสวรรค์ 1

วันที่รับรอง : 11 กรกฏาคม 2532

ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : ได้มาจากการผสมข้ามระหว่าง ประชากรข้าวโพด SW1 (MMS) C2 F2 ซึ่งได้รับการปรับปรุงและคัดเลือกโดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กับประชากรข้าวโพด Pop.28 (DMR) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้ตานทานต่อโรคราน้ำค้างโดยศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวสาลี นานาชาติ (CIMMYT) เป็นประชากรข้าวโพดอายุยาว เมล็ดสีเหลือง ชนิดหัวบุบ และมีฐานพันธุกรรมกว้าง เปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น เปรียบเทียบพันธุ์มาตรฐาน เปรียบ
เทียบพันธุ์ในท้องถิ่น เปรียบเทียบพันธุ์ในไร่กสิกร

ลักษณะทางการเกษตร

1. ผลผลิตเฉลี่ยต้นฤดูฝน 786 กิโลกรัมต่อไร่

2. ผลผลิตเฉลี่ยปลายฤดูฝน 656 กิโลกรัมต่อไร่

3. อายุเก็บเกี่ยว 10-120 วัน

4. วันออกไหม 52 วัน

5. ความสูงของต้น 196 เซ็นติเมตร

6. ความสูงของฝัก 102 เซ็นติเมตร

7. ความกว้างของใบ 3.6 เซ็นติเมตร

8. ความยาวของใบ 88 เซ็นติเมตร

9. การเป็นโรคราน้ำค้าง 7.7 เปอร์เซ็นต์

10. จำนวนต้นล้ม 5.4 เปอร์เซ็นต์

11. การหุ้มของเปลือกฝัก (1-5) คือ 1.9

12. เปอร์เซ็นต์กระเทาะ 78.7

13. สีของซังขาวปนแดง

14. สีและชนิดของเมล็ดส้มเหลืองกึ่งหัวแข็ง

ลักษณะดีเด่น

1. ผลผลิตสูงทั้งในสภาพการปลูกต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน คือผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ SW1 (MMS) C2F2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ใช้แนะนำให้เกษตรกรปลูกอยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 10% และเมื่อปลูกในปลายฤดูฝนจะให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 21%

2. จะมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันพื้นที่แนะนำ สามารถจะใช้แนะนำให้เกษตรกรปลูกได้ตลอดปีในเขตข้าวโพดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในการปลูกข้าว โพดปลายฤดูฝนให้ได้ผลผลิตสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด สารพิษ Aflatoxin ในข้าวโพดที่ปลูกต้นฤดู

9. พันธุ์แท้นครสวรรค์ 1

วันที่รับรอง : 02 กุมภาพันธ์ 2543

ประเภทพันธุ์ : ขึ้นทะเบียน

เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ มีชื่อเดิมว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 9008
ดำเนินการคัดเลือกโดยการผสมตัวเองจากประชากร (DA9-1(S)-7-3xSW1(S)C9)F2 ใน
สภาพการก่อให้เกิดโรคราน้ำค้าง จนกระทั่งสามารถคัดเลือกข้าวโพดสายพันธุ์
(DA9-1(S)-7-3xSW1(S)C9)-S5-177 ซึ่งมีสมรรถนะการผสมสูง ต้านทานโรคราน้ำค้าง
และทนทานต่อการหักล้ม ต่อมาตั้งชื่อเป็น Nei 9008

ลักษณะดีเด่น

1. ให้ผลผลิต 610 กิโลกรัมต่อไร่

2. มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง

10. พันธุ์แท้นครสวรรค์ 2

วันที่รับรอง : 02 กุมภาพันธ์ 2543

ประเภทพันธุ์ : ขึ้นทะเบียน

เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ มีชื่อเดิมว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ Nei 9202
ดำเนินการคัดเลือกโดยการผสมตัวเองจากประชากร Pop.28(HS)C5 ในสภาพการก่อให้
เกิดโรคราน้ำค้าง จนกระทั่งสามารถคัดเลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ Pop.28(HS)C5-S5-129
ซึ่งมีสมรรถนะการผสมสูงต้านทานโรคราน้ำค้างและทนทานต่อการหักล้มต่อมาตั้งชื่อเป็น
Nei 9202

ลักษณะดีเด่น

1. ให้ผลผลิต 343 กิโลกรัมต่อไร่

2. มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง

11. ลูกผสมสามทางสุวรรณ 2602(มก.)

วันที่รับรอง : 29 ธันวาคม 2529

ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

เป็นข้าวโพดลูกผสมให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 995 กก./ไร่ ( ผลจากการเปรียบเทียบพันธุ์
ในท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี ) มีลักษณะทางเกษตรกรรมที่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับ
สภาพแวดล้อมได้อย่างกว้างขวางในแหล่งปลูกข้าวโพดต่าง ๆ ของประเทศไทย
ลักษณะเมล็ดสีส้มเหลือง หัวแข็ง

12.พันธุ์ลูกผสมสามทางสุวรรณ 3101(มก.)

วันที่รับรอง : 01 กุมภาพันธ์ 2534

ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : ได้มาจากการผสมพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์แท้เกษตรศาสตร์เบอร์ 27 และ28 เป็นพันธุ์ ที่รวมตัวสูง ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง กับสายพันธุ์แท้เกษตรศาสตร์ เบอร์ 21 มีเชื้อพันธุ์ จากต่างประเทศสูงมาก และต้านทานต่อโรคราน้ำค้างทำการคัดเลือกตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2529-2532 พบว่าให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์รับรองที่มีอยู่

ลักษณะทางการเกษตร

1. ผลผลิตเฉลี่ยจาก 95 การทดลองใน 4 ปี ได้ 1,049 กิโลกรัมต่อไร่

2. จำนวนวันออกไหม ( 50 )% 51 วัน

3. ความสูงของต้น 209 เซนติเมตร

4. ความสูงของฝัก 123 เซนติเมตร

5. จำนวนต้นหักล้ม 8.0 เปอร์เซ็นต์

6. โรคทางใบ (1-5) 1.8 เปอร์เซ็นต์

7. จำนวนต้นเป็นโรคราน้ำค้าง 4.6 เปอร์เซ็นต์

8. จำนวนต้นที่เปลือกหุ้มฝักไม่มิดชิด 3.5 เปอร์เซ็นต์

9. จำนวนฝักเน่า 8.5 เปอร์เซ็นต์ 10. จำนวนฝักต่อต้น 100.0 เปอร์เซ็นต์

11. ความชื้นเมล็ด 27.5 เปอร์เซ็นต์

12. เปอร์เซ็นต์เปลือกกระเทาะ 78 เปอร์เซ็นต์

13. สีและชนิดของเมล็ดสีเหลืองส้มกึ่งหัวแข็ง 14. สีของซังขาว

ลักษณะดีเด่น

1. ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 2602 = 16 % พันธุ์สุวรรณ 1 รอบคัดเลือกที่ 11 = 21 % และพันธุ์สุวรรณ 3 รอบคัดเลือกที่ 4 = 13 %

2. มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตและปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

3. มีลักษณะทางการเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ ความสูงของต้น จำนวนหักล้ม โรคทางใบ เปลือกหุ้มฝักมิดชิด และเปอร์เซ็นต์กระเทาะดีกว่า พันธุ์สุวรรณ 2602 สุวรรณ 1 และ สุวรรณ 3


13.พันธุ์สุวรรณ 3 (มก.)

วันที่รับรอง : 09 ธันวาคม 2530

ประเภทพันธุ์ : พันธุ์รับรอง

ประวัติ : ข้าวโพดสุวรรณ 3 (KS4) ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยการผสมระหว่าง สายพันธุ์S1 จำนวน 30 สายพันธุ์ของพันธุ์สุวรรณ 1 รอบคัดเลือกที่ 8 มาผสมกับสายพันธุ์ S1 จำนวน 20 สายพันธุ์ของสายพันธุ์ เคซี 1แล้วปรับปรุงโดยวิธี S1 recurrent selection ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร พบว่าพันธุ์นี้ให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์ รับรองที่มีอยู่

ลักษณะดีเด่น : ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 1 ประมาณ 9 % ( 1,017 กิโลกรัม/ไร่ ) ทนทานต่อ โรคราน้ำค้าง มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้สูง และไม่มีข้อจำกัดในแหล่งปลูกข้าวโพดที่ผ่านการทดสอบ ส่วนในท้องที่ ๆ ไม่การทดสอบมาก่อนอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง

ลักษณะทางการเกษตร : ลักษณะเมล็ดมีสีส้มเหลือง หัวแข็ง - กิ่งหัวแข็ง ส่วนลักษณะอื่นๆ ใกล้เคียงกับสุวรรณ 1 เช่น วันออกไหม ความสูงของต้นและฝัก จำนวนฝักต่อต้น ความชื้นเมล็ดขณะเก็บเกี่ยว เป็นต้น

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

1.ฤดูปลูก

- ต้นฤดูฝน เดือนเมษายน-พฤษภาคม

- ปลายฤดูฝนเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม

2. การเตรียมดินปลูกข้าวโพด

- ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วยผาลเจ็ด 1 ครั้ง ปรับระดับดินให้สม่ำเสมอ แล้วคราดเก็บเศษซากราก เหง้า หัวและไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง

- วิเคราะห์ดินก่อนปลูก ถ้าดินมีความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ก่อนเตรียมดิน ควรหว่านปูนขาว อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินร่วนทราย และอัตรา 200-400 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือดินเหนียว แล้วไถกลบ

- ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเตรียมดินให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินเหนียวและดินร่วนเหนียว และอัตรา 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินร่วนและดินร่วนทราย หรือหว่านพืชบำรุงดิน เช่น ถั่วเขียว อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ ถั่วแปบ อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบในระยะเริ่มติดฝักหรือหลังเก็บเกี่ยวพืชบำรุงดิน

3. วิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

3.1.ปลูกด้วยแรงงาน

- ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร อัตราปลูก 8,500 ต้นต่อไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัมต่อไร่

- ใช้จอบขุดเป็นหลุม หรือรถไถเดินตามหรือแทรกเตอร์ติดหัวเปิดร่อง หยอดเมล็ดหลุมละ 1-2 เมล็ด กลบดินให้แน่น

- เมื่อข้าวโพดอายุประมาณ 14 วันหลังงอก ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

3.2. ปลูกด้วยเครื่องปลูก

- ใช้รถแทรกเตอร์ลากจูงเครื่องปลูกพร้อมใส่ปุ๋ยติดท้าย ปรับให้มีระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จำนวน 1 ต้นต่อหลุม หรืออัตราปลูกประมาณ 10,600 ต้นต่อไร่ ใช้เมล็ด 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ โดยไม่ถอนแยก

การดูแลรักษา

1. การใส่ปุ๋ยข้าวโพด

ดินเหนียวสีดำ ถ้ามีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์สูงกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โดยโรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน

**** ถ้าฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่ำกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-0 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 16-20-0 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 21-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ
ดินเหนียวสีแดง ดินเหนียวสีน้ำตาล หรือดินร่วนเหนียวสีน้ำตาล ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 หรือ 16-16-8 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และให้ปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ หรือสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ

ดินร่วน หรือดินร่วนทราย ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 หรือสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นร่องพร้อมปลูก และปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวหลังปลูก 20-25 วัน แล้วพรวนดินกลบ

วัชพืชและการป้องกันกำจัด

- ไถ 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัวและไหล ของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง

- กำจัดวัชพืชระหว่างแถวปลูกด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกล เมื่อข้าวโพดอายุ 20 - 25 วัน ก่อนให้ปุ๋ย

- ในกรณีที่กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกลไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ควรใช้สารกำจัดวัชพืช


การเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

- เก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัด หรือแห้งหมดทั้งแปลงแล้ว 7 วัน เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์

- ถ้าต้องการใช้พื้นที่ปลูกพืชอื่นตามข้าวโพด ควรเก็บเกี่ยวเมื่อใบข้าวโพดเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าวทั้งแปลง เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์

- ไม่ควรเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังฝนตก เพราะเมล็ดจะมีความชื้นสูง ควรปล่อยให้ฝักและต้นข้าวโพดแห้งก่อน

- ใช้ไม้หรือเหล็กแหลมแทงปลายฝัก ปอกเปลือก แล้วหักฝักข้าวโพดใส่กระสอบ นำไปเทกองรวมไว้ในยุ้งฉาง หรือ ใช้เครื่องเก็บเกี่ยว

สถานการณ์การผลิตข้าวโพด

ผลผลิตข้าวโพดของโลกมีประมาณ 604 ล้านตัน จากเนื้อที่เก็บเกี่ยว 861 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 701 กิโลกรัมต่อไร่ ประเทศผู้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล เม็กซิโก ฝรั่งเศส อาร์เจนตินา อินเดีย อิตาลี และอินโดนีเซีย

การแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

การผลิตสบู่ขัดผิวข้าวโพด

เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตได้ นอกจากจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว เกษตรกรยังสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเสริมรายได้ให้แก่ ครอบครัวได้โดยตรง เช่น การนำข้าวโพดมาทำเป็นสบู่ขัดผิว ในปัจจุบัน กระแสของผู้บริโภคที่กลับมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ได้เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการนำเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาแปรรูปเป็นส่วนผสมในการทำสบู่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายภายในประเทศ จึงเป็นโอกาสดีในการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แปลกแตกต่างไปจากสบู่ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด รวมทั้งยังเป็นการใช้วัตถุดิบข้าวโพดที่มีอยู่ย่างมากมายให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

สบู่ข้าวโพดได้จากการทำปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันพืชกับน้ำด่างโซดาไฟ ผลของปฏิกิริยานอกจากจะได้สบู่แล้วยังเกิดกลีเซอรีนซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น และมีส่วนผสมที่สำคัญคือ เมล็ดข้าวโพดที่บดละเอียดผสมลงไปในเนื้อสบู่ในอัตราที่เหมาะสมทำให้สบู่มีเนื้อสากขึ้น มีคุณสมบัติในการขัดผิว กำจัดสิ่งอุดตันรูขุมขน ดูดซับความมันเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวมัน สำหรับสูตรที่ได้คิดค้นนี้ยังได้ผสมงาบด ซึ่งเมล็ดงามีวิตามินอีช่วยชะลอผิวเหี่ยวย่น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มกลีเซอรีนและวิตามินอีเพื่อให้ความชุ่มชื้นและถนอมผิวมากยิ่งขึ้น

สบู่ข้าวโพดสามารถทำได้ในครัวเรือน เป็นสบู่ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ แตกต่างจากสบู่ที่จำหน่ายในท้องตลาดซึ่งผลิตในระบบอุตสาหกรรมไม่มีการใส่สารเพิ่มฟอง สี หรือสารกันบูด ที่อาจระคายเคืองต่อผิว จึงเหมาะสำหรับผุ้ที่มักมีผิวแพ้ง่ายและจะใส่เฉพาะสารเคมีบางชนิดที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ น้ำหอม เนื่องจากผุ้ใช้โดยทั่วไปมักติดในกลิ่นของสบู่ที่จะต้องหอม แต่สบู่ที่ไดจากปฏิกิริยาโดยตรงนั้นจะมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ผู้ใช้ทั่วไปมักไม่ชอบ อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นวัตถุดิบธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ การใช้สบู่ชนิดนี้จึงเท่ากับเป็นการรักษาสภาพแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตอีกด้วย



จากเว็บ http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=41&s=tblplant


กลับสู่ : หน้าหลัก พืชผัก พืชสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...